👩🏫 ไม่ว่าวิชาไหนก็ต้องมีงานที่ได้ออกไปพรีเซนต์หน้าห้องอยู่ร่ำไป จะใช้ฉายสไลด์ Power Point ขึ้นจอทุกวิชาก็น่าเบื่อแย่ ถ้าอยากดึงความสนใจจากเพื่อนๆ พร้อมกวาดคะแนนจากอาจารย์จุกๆ ก็ต้องงัดทุกกลยุทธ์มาลองพรีเซนต์งานให้เป็นที่จดจำแบบไม่ซ้ำใครดูบ้าง
CHULAguide ขอแนะนำ 5 รูปแบบพรีเซนต์หน้าห้อง ไม่ต้องพึ่ง Power Point! จะมีอะไรบ้าง ตามมาอ่านต่อข้างล่างนี้เลย
🎭 1. แสดงบทบาทสมมติ
เทรนด์ละครคุณธรรมกำลังมา ได้โอกาสสวมบทบาทเป็นดารา(หน้าห้อง)ก็คราวนี้ ยิ่งใครเป็นสายฮา กล้าแสดงออกก็ยิ่งเข้าทาง โดยเฉพาะถ้าเป็นการพรีเซนต์วิชาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา รวมถึงวิชาเกี่ยวกับภาษาต่างๆ รับรองว่าสามารถเอาเนื้อหาในบทเรียนมาถ่ายทอดให้เป็นบทละครได้ไม่ยาก แถมยังทำให้เพื่อนๆ จำบุคคลและบทบาทเหล่านั้นได้ดีกว่าแค่การฟังบรรยาย นอกจากนี้กลุ่มที่พรีเซนต์ก็จะได้แต่งตัวหลากหลายตามคาแรคเตอร์ที่ได้รับมอบหมาย ถือว่าได้สนุกกับการเป็นสไตลิสต์ไปในตัว สุดท้ายอย่าลืมซ้อมคิวให้ชัวร์ เท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวคะแนนปลิวไปไหนไกล
🎥 2. ทำคลิปวิดีโอ
สมัยก่อนถ้ามีงานที่ต้องทำเป็นคลิปวิดีโอมาส่ง เราคงต้องร้องโอดโอยโวยวายเป็นแน่ เพราะกว่าจะสำเร็จออกมาได้ซักคลิป ต้องเริ่มจากวางสตอรี่ไลน์ แล้วไหนจะต้องออกไปถ่ายทำ ประเด็นที่ลำบากสุดๆ ก็คือการตัดต่อที่มีหลายขั้นตอนจนปวดหัว แต่เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ง่ายขึ้นเยอะ เพราะหลายคนผันตัวมาเป็นยูทูปเบอร์ ติ๊กตอกเกอร์กันทั้งเมือง เรื่องการถ่ายทำคอนเทนท์จึงกลายเป็นเรื่องที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี แถมยังมีแอปตัดต่อในมือถือที่ใช้งานแสนจะง่ายดาย ช่วยเนรมิตคลิปสั้นๆ ได้ภายในพริบตา จะใส่เอฟเฟกต์ตู้มต้าม ฝังซับไตเติ้ลใดๆ ก็ไม่ยุ่งยาก พร้อมทั้งยังควบคุมเวลาในการนำเสนอได้ตามโจทย์แบบไม่ขาดไม่เกิน รับรองว่าถ้าได้พรีเซนต์เมื่อไหร่ เพื่อนๆ และคุณครูต้องดูแล้วประทับใจกันแน่นอน
🎲 3. คิดเกมหรือแบบทดสอบ
วิธีที่จะทำให้เพื่อนในห้องมีส่วนร่วมกับการนำเสนอได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการพรีเซนต์ในรูปแบบเกมหรือแบบทดสอบ และยังสามารถใช้ได้กับทุกหมวดหมู่วิชา ไม่จำกัดว่าจะเป็นภาษาไทย สังคม วิทย์ คณิต ซึ่งนอกจากเพื่อนๆ จะได้ความรู้จากสิ่งที่นำเสนอแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในกิจกรรมเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ เกิดความสนุกสนานไม่น่าเบื่อ ผู้พรีเซนต์อาจจะออกแบบเกมเป็นด่านต่างๆ ให้ความรู้สึกเหมือนการตะลุยเก็บเวล หรือจะเป็นเกมตอบคำถามแบบเบสิคเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ลองวัดความรู้ ไม่ก็ใช้ตัวช่วยอย่างเว็บไซต์ Kahoot ที่ทำให้เราสร้างเกมให้ทุกคนเล่นได้ง่ายๆ ไม่ต้องเปลืองแรงหาอุปกรณ์ใดๆ เพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟนเท่านั้นเอง
🖼️ 4. นำของจริงมาโชว์
การปฎิบัติจริงยังไงก็น่าสนใจกว่าในทฤษฎี อย่างถ้ามีพรีเซนต์ผลการทดลองวิทยาศาสตร์ ก็ไปเตรียมเครื่องมือทดลองมาโชว์แบบเล่นใหญ่ไฟกะพริบ แล้วลงมือทำทุกขั้นตอนให้เห็นกันสดๆ ไปเลย เชื่อว่าจะเรียกเสียงฮือฮาและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้เพื่อนๆ จนต้องถามว่า “งานไม่ใหญ่แน่นะวิ?” อาจจะเตรียมอุปกรณ์อีกชุดเพื่อให้เพื่อนหรืออาสาสมัครออกมาทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนในห้องเรียนมีส่วนร่วมได้อีกด้วย หรือถ้าเป็นวิชางานศิลปะ งานประดิษฐ์ ก็นำผลงานของจริงมาจัดแสดง พร้อมทั้งอธิบายวิธีการทำและทำให้ดูเป็นตัวอย่างทีละสเต็ป แต่ข้อเสียของการพรีเซนต์รูปแบบนี้อาจมีความผิดพลาดหน้างานสูง ดังนั้นอย่าลืมไปซ้อมให้เป๊ะจะได้ไม่โป๊ะนะทุกคน
🎵 5. แต่งเพลงหรือกลอน
เป็นอีกหนึ่งวิธีฮิตที่สถาบันติวเตอร์ชอบใช้ทริคนี้ในการสอน เพราะการแต่งเพลงหรือกลอนจะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างขึ้นใจ ถ้าเอามาปรับใช้กับการพรีเซนต์หน้าห้องก็อาจจะต้องใช้ความสามารถทางด้านภาษาเสียหน่อย คนที่เก่งเรื่องสัมผัสวรรคตอนน่าจะได้เปรียบได้ข้อนี้ แต่ก็ไม่ต้องซีเรียสว่าต้องไพเราะเสนาะหูอะไรขนาดนั้น เริ่มจากประโยคสั้นๆ แต่งเป็นเพลงร้องขำๆ ก็ได้ ถือว่าเป็นออพชั่นเสริมปิดท้ายการบรรยายแบบธรรมดา ให้เพื่อนกลับมาสนใจจนไม่หลับไปเสียก่อน
แหล่งที่มา: dek-d.com
#CHULAguide